กิจกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการผลิตต้นกล้าพันธุ์ดี
การผลิตพืชในปัจจุบันได้นำเอาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเข้ามาช่วยในการขยายพันธุ์พืชเพื่อให้ได้ต้นกล้าที่มีคุณภาพ แข็งแรง ปลอดโรค ตรงตามพันธุ์ และในปริมาณมาก สามารถจัดการวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีคุณภาพ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และยังช่วยเพิ่มผลผลิตในการปลูกพืชอีกทางหนึ่งด้วยงานปรับปรุงและขยายพันธุ์พืชและสัตว์ กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มีองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยและบริการวิชาการในการผลิตพืชทั้งพืชอาหาร พืชเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงสมุนไพรและไม้ประดับชนิดต่างๆ เพื่อให้บริการต้นกล้าพืชพันธุ์ดีที่มีคุณภาพแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน โดยในปีหนึ่งๆ ก่อนสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 ได้สร้างเงินรายได้ให้กับหน่วยงานในแต่ ละปีเป็นจำนวนเงินหลายแสนบาท แต่ภายหลังเมื่อเกิดโรคระบาดแล้ว ความต้องการต้นกล้าพืชได้ลดลงอย่างมาก
ในปี พ.ศ. 2565 นี้ ภายหลังจากประชากรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด 19 กันมากขึ้น และมีวิธีการป้องกันตนเองอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ จึงได้เริ่มมีการลงทุนในด้านต่างๆ กันมากขึ้น โดยในด้านการเกษตรมีการตื่นตัวและเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ กันมากขึ้น โดยเฉพาะพืชอาหาร พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งพืชสมุนไพรที่เป็นยารักษาโรค ดังนั้น ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของพืชต่างๆ เหล่านี้ และได้จัดทำโครงการการผลิตต้นกล้า พืชพันธุ๋ดีเพื่อให้บริการ โดยนำพืชอาหาร ได้แก่ กล้วยชนิดต่างๆ คือ กล้วยน้ำว้ายักษ์ น้ำว้าปากช่อง น้ำว้ามะลิอ่อง กล้วยหอมทอง กล้วยนาค และหน่อไม้ฝรั่งสีม่วงที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ กระท่อม ตลอดจนสมุนไพรรากสามสิบ มาผลิตเป็นต้นกล้าคุณภาพเพื่อให้บริการ นอกจากนี้ยั ยังมีไม้ประดับชนิดอื่นๆ รวมทั้งไม้ประดับตามกระแสไว้ให้บริการแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจทั่วไปอีกด้วย
โครงการผลิตต้นกล้าพันธุ์ดีเพื่อให้บริการนี้ ได้บูรณาการเชื่อมโยงกับโครงการสืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริฯ โดยได้นำต้นกล้าพืชอาหาร พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการไปปลูกในพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งผลิต เรียนรู้ ศึกษาดูงาน เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ในการผลิตพืชให้แก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เป็นการสร้างความมั่นใจและเตรียมความพร้อมในการผลิตสำหรับประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ หรือนำไปปลูกในครัวเรือนเป็นการเพิ่มแหล่งอาหาร หรือเป็นยาสมุนไพรใกล้ตัวเพื่อส่งเสริมสุขภาพของบุคคลในครอบครัวให้แข็งแรงขึ้น ลดการพึ่งพายาแผนปัจจุบัน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อผลิตต้นกล้าพืชอาหาร พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูง
2. เพื่อให้บริการต้นกล้าพืชพันธุ์ดีแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป
3. เพื่อสนับสนุนงานโครงการสืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริฯ
4. เพื่อสร้างรายได้ให้แก่หน่วยงานให้เกิดความยั่งยืนสามารถพึ่งพาตนเองได้
พื้นที่ดำเนินโครงการ : ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช อาคารสมเด็จพระเทพฯ และโรงเรือนเพาะเลี้ยงต้นกล้าอ่อน
หัวหน้าโครงการ : นางสาวรังสิมา อัมพวัน สังกัด : กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร