กิจกรรมเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ - การเลี้ยงสุกรในระบบการป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM)
ในสถานการณ์ที่สุกรราคาแพง เนื่องจากสุกรออกสู่ตลาดน้อยกว่าความต้องการของผู้บริโภค สาเหตุสำคัญที่มีการผลิตสุกรลดลงเพราะสุกรภายในประเทศถูกทำลายจากโรคระบาดโดยเฉพาะสุกรของเกษตรกรรายย่อยที่ถูกทำลายเกือบทั้งหมด เนื่องจากไม่มีระบบการป้องกันโรคที่ดี จะเหลือแต่สุกรของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีระบบการป้องกันโรคที่ดีพอจะสามารถป้องกันการระบาดของโรคได้ ดังนั้น งานปรับปรุงและขยายพันธุ์พืชและสัตว์ กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร จึงมีแนวทางการปรับปรุงโรงเรือนเลี้ยงสุกรทดลองของสำนักวิจัยฯ ให้เป็น “ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม” (Good Farming Management : GFM) เพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสียจากปัญหาการระบาดของโรคให้สุกรมีคุณภาพมีผลผลิตที่ดี เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาให้เป็นฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ (GAP) โดยดำเนินการตามหลักวิชาการและการปฏิบัติงานในแนวทางเดียวกัน เป็นการปรับปรุงการเลี้ยงสุกรให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และใช้เป็นแหล่งผลิตสุกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่จะให้ประชาชนอยู่อย่างพอมีพอกิน และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับโครงการเศรษฐกิจพอเพียง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อปรับการเลี้ยงสุกรให้อยู่ในระบบการป้องกันโรคที่ดี
2. เพื่อบริการให้คำแนะนำด้านการเลี้ยงสุกรแก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป
3. เพื่อใช้สนับสนุนการเรียนการสอนของนักศึกษา
4. เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น อยู่อย่างพอมีพอกิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สอดคล้องกับโครงการเศรษฐกิจพอเพียง
พื้นที่ดำเนินโครงการ : โรงเรือนเลี้ยงสุกรของสำนักวิจัยฯ (ไร่ฝึกวัดวิเวก) กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
หัวหน้าโครงการ : นายไพศาล โพธินาม สังกัด : กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร