1075 จำนวนผู้เข้าชม |
กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ - การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร
สมุนไพร หมายถึง การนำส่วนประกอบหรือส่วนต่างๆ ของพืช สัตว์ แร่ธาตุจากธรรมชาติ นำมาผลิตตามกรรมวิธี นำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ และบำรุงร่างกายได้ ตามกำหนดของกระทรวงสาธารณะสุข ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีจำนวนทั้งสิ้น 71 รายการ ซึ่งมีสมุนไพรเป็นองค์ประกอบถึง 229 ชนิด เมื่อนำมาเทียบเคียงกับพืชสมุนไพรของล้านนาพบว่ามีพืชสมุนไพรของล้านนาถึง 154 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 64 โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร ที่นำมาใช้ในการช่วยรักษาผู้ป่วยจากไวรัสโควิด 19 ที่มีระดับความรุนแรงน้อย (ไม่มีภาวะปอดอักเสบ) ร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน ในปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น การรับประทานอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมี หรือการใช้พืชสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน การนำพืชที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่นมาส่งเสริมแก่เกษตรกร นอกจากก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์พืชท้องถิ่นอย่างยั่งยืนได้อีกทางหนึ่ง
มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นมหาวิทยาลัยด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการเกษตรในรูปของเกษตรอินทรีย์ จึงมีความพร้อมด้านองค์ความรู้และบุคลากร การขยายผลของโครงการสู่เกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ สู่ชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาสารเคมีในการผลิตเป็นหลัก ทำให้ผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกอาจเกิดการปนเปื้อนสารเคมีได้ ดังนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชท้องถิ่นในรูปของเกษตรอินทรีย์ นอกจากส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมแล้ว สุขภาพของเกษตรกรผู้ผลิตเอง และผู้บริโภคที่จะได้รับประทานอาหารที่มีความปลอดภัยจากสารเคมี สามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นสถานที่สำหรับบูรณาการ ด้านการเรียน การสอน การวิจัย และการบริหารจัดการ ของมหาวิทยาลัยอย่างเต็มรูปแบบ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของโครงการพัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
2. เพื่อเป็นการแนะนำและส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรในระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกร
3. ผลิตภัณฑ์ชาจากพืชสมุนไพรอย่างน้อย 1 ผลิตภัณฑ์
พื้นที่ดำเนินโครงการ : สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
หัวหน้าโครงการ : นายอดิศักดิ์ การพึ่งตน สังกัด : กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร