11479 จำนวนผู้เข้าชม |
กล้วยเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมบริโภคเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญต่อสุขภาพเนื่องมาจากกล้วยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จากข้อมูลทางสถิติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO Stat, 2014) ปี 2555 สรุป โดยกรมวิชาการเกษตร (2559) “ยุทธศาสตร์การพัฒนางานวิจัยกล้วย พ.ศ. 2559 – 2563 แหล่งผลิตกล้วยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลีย โอเซียเนีย และยุโรป ประเทศผู้ผลิตหลัก ได้แก่ อินเดีย บราซิล ฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย จีน เอกวาดอร์ บรุนดี ไทย อูกันดา แองโกลา และอินโดนีเซีย เป็นต้น ผลผลิตรวมของโลกมีประมาณ 96 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 7.69 แสนล้านบาท สำหรับประเทศไทยกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง กล้วยที่นิยมปลูกเพื่อเป็นการค้าในประเทศมีอยู่ 3 ชนิด คือ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยหอม กล้วยหอมที่เป็นการค้าในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ กล้วยหอมทอง และกล้วยหอมเขียว ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ การส่งออกกล้วยสดและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วยนั้น ยังมีมูลค่าไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และในปี 2563 ไทยส่งออกผลผลิตกล้วยสดไปต่างประเทศ มีมูลค่ารวม 215.3 ล้านบาท (การค้าไทย, 2563)
"กล้วยหอมทอง" เป็นกล้วยที่มีศักยภาพในการส่งออกมากที่สุดเมื่อเทียบกับกล้วยส่งออกอื่นๆ ด้วยคุณลักษณะที่มีรสชาติดี มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน เปลือกบาง ไม่เหนียว สีผิวของกล้วยเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง แต่ละลูกเรียงกันอยู่ในหวีอย่างสวยงาม ทำให้กล้วยหอมได้รับความนิยมเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ จึงมีแนวโน้มความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น จังหวัดที่มีพื้นที่การผลิตปลูกกล้วยหอมทองมากที่สุดที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ชุมพร สระบุรี และหนองคาย เป็นต้น ประเทศไทยมีคู่ค้าที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น จีน ลาว โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสูง โดยมีข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA; Japan Thailand Economic Partnership Agreement) โดยญี่ปุ่นให้โควตากล้วยหอมทองจากประเทศไทยปีละ 8,000 ตัน แต่ประเทศไทยสามารถส่งออกได้เพียงปีละ 4,000 ตันเท่านั้น (เกษตรก้าวไกล, 2560) เนื่องจากกล้วยหอมทองที่ผลิตได้มีปัญหาในด้านการส่งออกเพราะคุณภาพผลผลิตไม่ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ปัญหาที่พบคือ พื้นที่ที่ปลูกกล้วยให้ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกกล้วยหอมทองเป็นพืชแซม เมื่อพืชหลักเติบโตอย่างเต็มที่จึงต้องเลิกปลูกกล้วยหอมทอง จึงทำให้ปริมาณการผลิตยังไม่คงที่ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตไม่ตรงกับความต้องการของตลาด จึงทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2563) ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยเพื่อการส่งออกมากขึ้น และเพื่อให้การผลิตกล้วยหอมทองเพียงพอต่อผู้บริโภคในประเทศและมีคุณภาพตามเกณฑ์การส่งออกได้
ในปัจจุบันการผลิตกล้วยเพื่อให้มีคุณภาพดี โดยสามารถควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพได้นั้น จำเป็นต้องใช้ต้นกล้าพันธุ์ดีจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากต้องใช้ต้นกล้าเป็นจำนวนมาก ปลูกและให้ผลิตพร้อมกัน ซึ่งวางแผนการผลิตได้ง่าย จึงมีผู้ปลูกจำนวนมากให้ความสนใจหันมาใช้ต้นกล้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกันมากขึ้น ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ งานปรับปรุงและขยายพันธุ์พืชและสัตว์ กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงได้ศึกษาการขยายพันธุ์กล้วยหลายๆ ชนิด ในห้องปฏิบัติการ และสามารถนำต้นออกปลูกได้ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องการขยายผลโดยนำร่องพัฒนาต่อยอดการผลิตต้นกล้ากล้วยหอมทองในเชิงอุตสาหกรรม โดยได้พัฒนาทักษะจากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มจำนวนต้นกล้าพันธุ์กล้วยหอมทองให้เพียงพอต่อความต้องการในระบบการผลิตเชิงพาณิชย์
กล้วย (Musa sapientum L.) เป็นพืชล้มลุกในวงศ์ Musaceae มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นไม้ผลเขตร้อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย (กรมวิชาการเกษตร, 2559) โดยกล้วยที่ผลิตเพื่อการค้าในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิด คือ กล้วยไข่ กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า (กรมวิชาการเกษตร, 2557)
กล้วยหอมที่เป็นการค้าในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ กล้วยหอมทอง และกล้วยหอมเขียว ซึ่งมีลักษณะผลคล้ายกัน และขนาดใกล้เคียงกัน แต่จะแตกต่างกันที่ลักษณะของลำต้น และกล้วยหอมเขียวจะสุกรับประทานได้ในขณะที่ผลยังเขียว ส่วนกล้วยหอมทองจะเริ่มสุกและรับประทานได้เมื่อผลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
ข้อมูลโดย : รังสิมา อัมพวัน กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้