วิธีการขยายพันธุ์กล้วย

12451 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีการขยายพันธุ์กล้วย

การขยายพันธุ์กล้วยสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

1. การเพาะเมล็ด เมล็ดกล้วยส่วนใหญ่เกิดจากการผสมข้ามกับต้นอื่นหรือพันธุ์อื่น ดังนั้นเมล็ดที่ได้อาจเกิดจากการผสมข้ามกลายเป็นลูกผสม อาจทำให้ต้นที่ได้ไม่ตรงกับต้นแม่ นอกจากนี้เมล็ดของกล้วยมีเปลือกหุ้มเมล็ดที่หนาและแข็ง ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเพาะเมล็ดเป็นต้นได้ จึงไม่ค่อยนิยมการเพาะเมล็ดกล้วย ยกเว้นกล้วยนวลและกล้วยผาที่จำเป็นต้องเพาะเมล็ด เพราะต้นกล้วยชนิดนี้ไม่มีการแตกหน่อ

2. การแยกหน่อหรือเหง้า โดยปกติกล้วยมีการแตกหน่อจากตาข้างของต้นแม่ โดยหน่อที่ดีที่สุดคือ หน่อใบแคบ หรือ ใบดาบ (sword sucker) หน่อที่มีใบเรียวเล็ก โคนหน่อใหญ่ หรือมีส่วนของลำต้นใหญ่ จึงมีอาหารสะสมมาก หน่อชนิดนี้นิยมนำไปปลูกเพื่อได้ต้นที่แข็งแรง

3. การผ่าหน่อ โดยการขุดหน่อที่มีอายุประมาณ 2-3 เดือน นำมาผ่าออกเป็น 4-6 ชิ้นต่อหน่อแล้วนำมาเพาะในวัสดุเพาะชำ

4. การขยายพันธุ์กล้วยด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นวิธีการที่สามารถทำให้ได้ต้นกล้าจำนวนมาก ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ก่อนจะทำการขยายพันธุ์ ต้องคัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีลักษณะที่ดี แข็งแรง ต้านทานโรคแมลงรบกวน ลูกโต จำนวนหวีต่อเครือมาก เพื่อผลิตให้ได้ต้นพันธุ์ที่มีลักษณะที่ดีตามต้องการ

    มีงานวิจัยที่ศึกษาการขยายพันธุ์กล้วยด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหลายงานวิจัย เช่น งานวิจัยของ Nofiyanto et al. (2019) ได้ศึกษาผลของสารควบคุมการเจริญเติบโต Benzyl amino purine (BAP) และ Indole acetic acid (IAA) ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของกล้วยสายพันธุ์ raja bulu (Musa parabisiaca)  เพาะเลี้ยงบนอาหารที่มี BAP ความเข้มข้น 0, 0.5, 1, 1.5 และ 2 ppm ร่วมกับ IAA ความเข้มข้น 0, 1, 2, 3 และ 4 ppm พบว่า BAP 1 ppm ร่วมกับ IAA 3 ppm  มีจำนวนใบและเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นดีที่สุด และ BAP 0.5 ppmร่วมกับ IAA 4 ppm มีจำนวนรากและความยาวรากมากที่สุด BAP 1.5 ppm ร่วมกับ IAA 4 ppm มีความสูงของต้นกล้าสูงที่สุด ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าต้นกล้วยสายพันธุ์ raja bulu สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่มี BAP 0.5-1.5 ppm ร่วมกับ IAA 3-4 ppm

    Ahmed et al. (2014) ได้ศึกษาการขยายพันธุ์กล้วยสายพันธุ์ Grand Naine โดยฟอกฆ่าเชื้อชิ้นส่วนด้วย HgCl2 0.1% เป็นเวลา 6 นาที จากนั้นเพาะเลี้ยงบนอาหารสูตร MS ที่เติม BAP ความเข้มข้น 2, 4 และ 6 มก/ล ร่วมกับ IAA 2 มก/ล พบว่า อาหารที่เติม BAP 4.00 มก/ล กับ IAA 2.00 มก/ล มีการเกิดยอดสูงสุด 10.66 ยอด และเมื่อศึกษาการออกรากพบว่า การใช้อาหาร ½ MS ร่วมกับ IBA 1.00 มก/ล และ activated charcoal 200 มก/ล มีการเกิดรากสูงสุด

    นิดาพร และคณะ (2559) ได้เพาะเลี้ยงชิ้นส่วนปลายยอดของกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องด้วยการเพาะเลี้ยงบนอาหารสูตร MS ที่เติม N6-Benzyladenine (BA), α-Naphthalene Acetic Acid (NAA) และน้ำมะพร้าว เพาะเลี้ยงเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า อาหารสูตร MS ที่เติม น้ำมะพร้าว 15% (v/v) สามารถชักนำให้เกิดยอดสูงสุด 100 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนยอดเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 2.00 ยอด/ชิ้นส่วน จากนั้นย้ายต้นอ่อนที่สมบูรณ์ออกปลูกในสภาพโรงเรือน พบว่าการใช้วัสดุปลูก ขี้เถ้าแกลบ:ขุยมะพร้าว:ทราย ในอัตราส่วน 2:1:1 ต้นอ่อนมีอัตราการรอดชีวิตสูงสุดถึง 100%

ข้อมูลโดย : รังสิมา อัมพวัน กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้