เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ [Zone 2]

416 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ [Zone 2]

ฐานการปลูกพืชผัก

    ตัวอย่างพืชผักที่ควรปลูก เช่น ผักยืนต้น ได้แก่ แคบ้าน ผักหวาน กระถิน เพกา ชะอม มะรุม ผักล้มลุก ได้แก่ ผักกาด คะน้า มะเขือ มะเขือเทศ พริก มะเขือพวง กะเพรา โหระพา แมงลัก ถั่วฝักยาว ถั่วพู มันเทศ เผือก ใบเตย กระเจี๊ยบเขียว ผักบุ้ง สลัด หางหงส์ ต้นหอม ผักเครื่องปรุง มะแขว่น มะกรูด มะนาว ขิง ข่า ตะไคร้ สะระแหน่ พริกไทย และเห็ด ต่าง ๆ เช่น เห็ดนางฟ้า นางรม เห็ดฟาง เป๋าฮื้อ เห็ดหอม
 


เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์

    ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นี้เป็นงานต่อยอดจากงานวิจัยที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและมีการบูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น การจัดการดิน การควบคุมโรค-แมลง เทคโนโลยีด้านเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น รวมถึงการนำพันธุกรรมพืชที่ได้จากการรวบรวมของ คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
    ปัจจัยการผลิตที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการผลิตผักสดอินทรีย์ประการหนึ่ง คือ การเลือกใช้พันธุ์พืชที่ถูกต้อง เหมาะสม พันธุ์พืชสำหรับระบบเกษตรอินทรีย์ นอกจากมีคุณสมบัติตามที่ผู้บริโภคต้องการแล้ว ยังควรจะต้องเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรค-แมลง มีระบบรากแข็งแรง หาอาหารเก่ง อีกทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ดี

 


ฐานการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น

    คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ตัวอย่างไม้ผลที่ควรปลูก ได้แก่ มะม่วง มะพร้าว ขนุน ส้ม กล้วย มะละกอ กระท้อน ลำไย ฝรั่ง น้อยหน่า ตลอดจนไม้ยืนต้นตามแนวพระราชดำรัส " ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง " คือ
1. เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ได้แก่ ตะเคียน สัก มะฮอกกานี กระถินเทพา แดง ประดู่ มะค่าโมง ยางนา
2. เพื่อเป็นอาหาร ได้แก่ ขี้เหล็ก สะเดา กระถิน มะกอก มะขาม
3. เพื่อใช้สอยอื่น ๆ เช่น ทำฟืน เครื่องจักสาน เครื่องเรือน เครื่องมือการเกษตร ทำคอกสัตว์
4. ตลอดจนช่วยสร้างความร่มรื่น รักษาสมดุลของระบบนิเวศ อย่างไรก็ตามการพิจารณาชนิดของต้นไม้ที่จะปลูก ควรคำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละสภาพท้องที่ นั้น ๆ


ฐานการผลิตปุ๋ยหมักและปุ๋ยน้ำชีวภาพ

    สภาพที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการปลูกพืชอยู่เสมอ องค์ประกอบของดินที่ดี ควรประกอบไปด้วย อนินทรียวัตถุ 45% อินทรียวัตถุ 5% น้ำ 25% และอากาศ 25% โดยปริมาตร

การปรับปรุงดิน
    บำรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน โครงสร้างดินดีขึ้น ระบายอากาศดีขึ้น ระบบรากพืชสามารถแผ่กระจายในดินอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ดูดธาตุอาหารได้มากขึ้น ส่งเสริมให้ดินมีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตมากขึ้น อัตราการใช้ ในดินเหนียว 2-4 ตันต่อไร่ ดินทราย 4-6 ตัน ต่อไร่

การปรับปรุงดิน บำรุงดินด้วยปุ๋ยคอก
    ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน ระบายน้ำ ระบายอากาศดีขึ้น เพิ่มความคงทน แก่เม็ดดิน เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ในดิน อัตราที่แนะนำ ดินเหนียว ใช้ 1 ตันต่อไร่ ดินทรายใช้อัตรา 2 ตันต่อไร่

การปรับปรุงดิน บำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด
    คือ ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการไถกลบพืช ขณะยังเขียวสดอยู่ลงในดิน มักนิยมไถกลบช่วงที่พืชกำลังติดดอก เพราะมีปริมาณธาตุไนโตรเจนสูง ให้น้ำหนักอินทรียจากพืชสูงสุด แล้วปล่อยให้ย่อยสลายประมาณ 7-14 วัน จากนั้นจึงปลูกพืชหลักตาม ชนิดปุ๋ยพืชสดได้แก่ พืชตระกูลถั่วต่าง ๆ เพราะโตเร็ว อายุสั้น ย่อยสลายง่าย ทนต่อสภาพการแปรปรวนได้ดี เช่น ปอเทือง ถั่วพร้า โสนอัฟริกัน ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ

การปรับปรุงดิน บำรุงดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ
    คือ ปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยมีคุณสมบัติพิเศษสามารถสังเคราะห์สารประกอบธาตุอาหารพืชได้เอง หรือเปลี่ยนรูปให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะจุลินทรีย์เหล่านี้ช่วยตรึงไนโตรเจน ช่วยผลิตฮอร์โมน กระตุ้นการเจริญเติบโต ควบคุมโรคในดิน กระตุ้นให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันโรค

การใช้ประโยชน์หญ้าแฝกบำรุงดิน
    หญ้าแฝกนอกจากช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำแล้ว ยังมีบทบาทในการปรับปรุง บำรุงดินทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะใบ และรากหญ้าแฝก เมื่อย่อยสลายสามารถปล่อยธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองแก่ดิน รากหญ้าแฝกช่วยให้ดินร่วนซุย เพราะหยั่งลึกลงดิน ยังพบจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์หลายชนิดที่บริเวณราก เมื่อรากหญ้าแฝกตายลง ทำให้เกิดช่องว่างสำหรับน้ำ และอากาศถ่ายเทได้สะดวกยิ่งขึ้น


 

ฐานเกษตรกรรมสมัยใหม่ (Modern Agriculture)

    มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นมหาวิทยาลัยมีอัตลักษณ์ความเป็นนักปฏิบัติที่สะสมภูมิปัญญาความเชี่ยวชาญทางด้านการเกษตร ต่อยอดสู่เกษตรกรรมสมัยใหม่หรือเกษตรนวัตกรรม ด้วยการศึกษาและวิจัยตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่เกษตรกรและฟาร์ม โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture Innovation Center) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหน่วยงานหลัก โดยองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีระบบเกษตรแบบแม่นยำ (precision agriculture Technology) และเทคโนโลยีการทำฟาร์มอัจฉริยะ (smart farming Technology) ตลอดจนระบบแอปพลิเคชันสนับสนุนการทำการเกษตรสมัยใหม่ (Decision Support System) โดยมุ่งเน้นพัฒนาและถ่ายทอดระบบการทำเกษตรสมัยใหม่ เกษตรอัจฉริยะให้สอดคล้องตามบริบทของเกษตรกรรมไทย โดยมีต้นทุนต่ำและเหมาะสมกับชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกรและสร้างความมั่นคงทางอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืน

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้