ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา [บ้านล้านนา]

332 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา [บ้านล้านนา]

    ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ให้ความสำคัญกับการทำการเกษตรและเป็นอัตลักษณ์ของสถาบัน จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อเป็นฐานการเรียนรู้ที่ใช้ในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของคนล้านนา เป็นสถานที่ให้บริการทางด้านการฝึกอบรม สาธิตการทำการเกษตรแบบธรรมชาติและการทำเกษตรอินทรีย์ ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา การจำลองกลุ่มบ้านล้านนาและวิถีชีวิตของคนล้านนา การจัดนิทรรศการการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรล้านนา การไถนาโดยใช้ควาย วัฒนธรรมการปลูกข้าว การปลูกผักสวนครัวหลังบ้านและริมรั้วบ้าน การเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ เช่น ไก่หลุม หมูหลุม เป็นต้น การน้อมนำแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา เยาวชน เกษตรกร และผู้ที่สนใจในการเข้าศึกษาดูงาน สาธิตและฝึกอบรม และยังสนับสนุนการเรียนการสอน รายวิชา ผษ101 เกษตรเพื่อชีวิต ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และการลงปฏิบัติงานฟาร์มของนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้

การจำลองกลุ่มบ้านล้านนาและวิถีชีวิตของคนล้านนา แบ่งออกเป็น 2 แบบ
1. กลุ่มบ้านล้านนาที่เป็นของคนเมือง มีหน้าต่าง มีช่องระบายอากาศ
    ไทยวน หรือ คนเมือง คือกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย มักตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่านระหว่างหุบเขา เช่น ลุ่มแม่น้ำปิงเป็นที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่และลำพูน ลุ่มแม่น้ำวังเป็นที่ตั้งของเมืองลำปาง ลุ่มน้ำยมเป็นที่ตั้งของเมืองแพร่ และลุ่มแม่น้ำน่านเป็นที่ตั้งของเมืองน่าน เป็นต้น ชาวไทยวนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักตามภูมิประเทศที่อาศัยที่ตั้งถิ่นฐาน
 

 
2. กลุ่มบ้านล้านนาที่เป็นของคนไทลื้อ ไทเขิน เป็นบ้านที่ไม่มีหน้าต่าง ส่วนใหญ่จะมีบ้านอยู่บนที่สูง
    ชาวไทลื้อ ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน มีเมืองเชียงรุ่ง ในเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนาน เป็นศูนย์กลาง ชาวไทลื้อจึงมีประวัติศาสตร์ร่วมกับจีนมาเป็นเวลายาวนาน ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมามีกลุ่มชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพและถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ทางตอนเหนือของพม่า ตอนเหนือของลาว ตอนเหนือของเวียดนาม และทางตอนเหนือของประเทศไทย ในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน เมื่อย้ายมาตั้งถิ่นฐานตามที่ต่างๆ แล้ว ชาวไทลื้อก็มีการปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน
    ไทเขิน หรือ ไทขึน เป็นชนชาติหนึ่งที่เรียกตนเองตามพื้นที่อยู่อาศัยในลุ่มแม่น้ำ “ขึน” โดยมีเมืองเชียงตุงเป็นศูนย์กลาง เป็นเมืองในหุบเขา อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ในเขตการปกครอง สหภาพพม่า ภายหลังได้มีการกวาดต้อนชาวไทเขินบางส่วนลงมายังอำเภอเมือง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ว่างเว้นจึงทำงานหัตถกรรมประเภทเครื่องเงิน เครื่องเขิน และเคี่ยนไม้ (กลึงไม้)
ที่มาข้อมูลชาติพันธุ์ในล้านนา :  ReviewChiangmai.com
 

 

  อุปกรณ์ เครื่องมือการเกษตร และของใช้แบบล้านนาโบราณ

รับชมวิดีโอ แนะนำศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้