ผักเคล (KALE)

227 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผักเคล (KALE)

    ผักเคล (Kale) หรือคะน้าใบหยิก จัดเป็นพืชผักในวงศ์ Brassicaceae เช่นเดียวกับคะน้า กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ และกะหล่ำดอก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica oleracea L. Acephala group ชื่อสามัญหลายชื่อ ได้แก่ Kale, Curl Leaf Kale และ Leaf Cabbage มีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน ซึ่งจะมีลักษณะของต้นที่แตกต่างกันเช่น ใบเรียวยาวสีเขียว ใบหยักสีเขียวหรือสีม่วง ขอบใบเรียบหรือขอบใบเป็นลอน ลำต้นมีสีม่วง หรือลำต้นเป็นสีเขียว ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เป็นต้น
    “ผักเคล” ถูกขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งผักสีเขียวทั้งมวล (Queen Of Greens) และได้รับการยอมรับว่าเป็น Super food หรืออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและหลากหลาย เมื่อเทียบกับผักประเภทอื่นๆ ในปริมาณที่เท่ากัน
    โดยผักเคลต้มสุก 1 ถ้วยหรือประมาณ 118 กรัม มีสารอาหารมากมาย เช่น โปรตีน, แคลเซียม, โพแทสเซียม, แมกนีเซียม, ธาตุเหล็ก, วิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินเค, วิตามินบี1 บี2 บี3, ไฟเบอร์ และที่โดดเด่นสุดๆ คือมีสารลูทีนและซีแซนทีน ในปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ช่วยดูแลดวงตาได้อย่างดี
คุณค่าทางโภชนาการ
1. เคลมีไฟเบอร์สูง ช่วยลดความเสี่ยง “โรคเบาหวาน” สมาคมโรคเบาหวานอเมริกัน แนะนำให้บริโภคอาหารในกลุ่มที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ กากใยไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระสูง เนื่องจากมีหลักฐานทางการแพทย์พบว่าอาหารในกลุ่มนี้ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้
2. ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันโรคความดันสูง จากการศึกษาขององค์กร Cochrane เมื่อปี 2559 พบว่าการบริโภคอาหารไฟเบอร์สูงส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดลดลง และทำให้ความดันโลหิตเป็นปกติ
3. เคลมีลูทีนและซีแซนทีนสูง ช่วยปกป้องดวงตา ผักเคลมีสารสำคัญอย่างลูทีนและซีแซนทีนในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่พบมากในผักเคลหรือคะน้าใบหยัก
4. เคลมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ป้องกันมะเร็ง ผักเคลมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น วิตามินซี เบต้าแคโรทีน และซีลีเนียม ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง
5. เคลมีคลอโรฟิลล์สูง ช่วยดักจับสารก่อมะเร็ง ผักเคลมีคลอโรฟิลล์สูง ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายดูดซึม “เอมีนเฮเทอโรไซคลิก” หรือสารก่อมะเร็งจากอาหารประเภทปิ้งย่างได้ จริงๆ
6. ผักเคลมีโพแทสเซียม ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association : AHA) มีคำแนะนำผู้คนให้บริโภคอาหารที่มีโพแทสเซียมมากขึ้น เนื่องจากโพแทสเซียมสามารถลดความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง ของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
7. เคลอาจช่วยลดน้ำหนักได้ดีขึ้น ผักเคลมีคุณสมบัติหลายประการที่เป็นมิตรต่อการ “ลดน้ำหนัก” นั่นคือ แคลอรี่ต่ำมาก มีไฟเบอร์ และมีน้ำปริมาณมาก
8. มีเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ ช่วยบำรุงผิวหนังและเส้นผม ผักเคลอุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีนที่ดีซึ่งเป็นแคโรทีนอยด์ที่ร่างกายเปลี่ยนเป็นวิตามินเอตามที่ต้องการ
9. เคลเป็นแหล่งแร่ธาตุที่ดี ผักเคลเป็นแหล่งแร่ธาตุที่ดีที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเพียงพอในแต่ละวัน โดยแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายพบว่ามีอยู่ในผักเคลเกือบครบทุกชนิด
10. ไม่ควรกิน “เคล” มากเกินไป เพราะหากบริโภคมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้
วิธีการปลูกผักเคล
1. การเพาะเมล็ด สามารถหยอดหรือหว่านเมล็ดลงแปลงปลูกได้ แต่ส่วนมากนิยมเพาะเมล็ดในถาดหลุมโดยใช้พีทมอสเป็นวัสดุเพาะ หยอดเมล็ดลงหลุมละ 2 เมล็ด รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นนำถาดเพาะเมล็ดไปวางไว้ในที่ร่มนาน 2-3 วัน รดน้ำเช้า-เย็น ใช้เวลาประมาณ 3-7 วันเมล็ดจะเริ่มงอก หลังจากเมล็ดงอกมีใบเลี้ยงโผล่ขึ้นมา ให้ย้ายถาดเพาะไปวางในที่ที่ได้รับแสง 100 เปอร์เซ็นต์ และรดน้ำวันละ 2-3 ครั้ง เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 1-3 ใบ หรือต้นกล้ามีอายุ 15-18 วันให้ตัดต้นออกเหลือหลุมละ 1 ต้น แล้วย้ายปลูกลงแปลงหรือลงกระถาง
2. การดูแลรักษา บำรุงต้นด้วยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ผ่านการหมัก ในอัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หากปลูกในกระถางใส่ปุ๋ยประมาณ 1 กำมือหรือประมาณ 20 กรัมต่อกระถาง ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก) เพื่อเพิ่มธาตุอาหารทุก 30 วัน
3. การจัดการเรื่องโรคและแมลง ปัญหาเรื่องโรคและแมลงของเคลช่วงฤดูหนาวจะค่อนข้างน้อย แต่หากปลูกในฤดูร้อน ช่วงหลังเดือนกุมภาพันธุ์เป็นต้นไป จะพบเจอโรคที่เข้าทำลายเช่น โรคทางราก เช่น โรครากเน่า-โคนเน่า โรคเหี่ยว ใช้ไตรโคเดอร์มา ปริมาตร 100 ซีซี. (10 ช้อนแกง) ต่อน้ำ 20 ลิตรราดโคนต้น เพื่อป้องกันโรคทางรากที่มากับดินหรือวัสดุปลูก โรคทางใบ เช่น โรคราน้ำค้าง ใบจุด ราแป้ง ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ MMO2 ครั้งละ 30-40 ซีซี (3-4 ช้อนแกง) ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 10 วัน หลังจากย้ายปลูกฉีดพ่นทุก ๆ 7-10 วัน หรือเมื่อพบอาการโรคระบาดและเมื่อพืชแสดงอาการขาดธาตุอาหาร พ่นให้ทั่วบนใบและใต้ใบ แมลงปากดูด เช่น เพลี้นอ่อน เพลี้ยไฟ ไรแดง แมลงหวี่ขาว ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย ( Beauveria bassiana ) ปริมาตร 100 ซีซี. (10 ช้อนแกง) ต่อน้ำ 20 ลิตรพ่นให้ทั่วบนใบและใต้ใบ แมลงปากกัด เช่น หนอนกินใบและยอดอ่อน ด้วงหมัดผัก และเต่าแตง ใช้จุลินทรีย์ Bacillus thuringiensis หรือเรียกว่า “Bt” ใช้อัตราส่วน 80-100 ซีซี. (8-10 ช้อนแกง) ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ทุกๆ 7 วัน หากระบาดรุนแรงควรใช้อัตราส่วน 100-120 ซีซี. (10-12 ช้อนแกง) ต่อน้ำ 20 ลิตร ควรฉีดพ่นช่วงเย็น เนื่องจาก เชื้อ MMO Bt ถูกทำลายได้ด้วยรังสียูวี
4. การเก็บเกี่ยว เคลสามารถทยอยตัดใบล่างไปรับประทานได้เรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นมีอายุ 45 วันเป็นต้นไป การเก็บแต่ละครั้งควรเหลือใบบนต้นสัก 6-7 ใบ เพื่อให้ต้นสังเคราะห์แสงและพร้อมแตกยอดใหม่ให้เก็บในรอบถัดไป
การใช้ประโยชน์
1. ผักเคล สามารถนำมารับประทานสดๆ เช่น การนำมาทำสลัด วางบนจานสเต็ก ตกแต่งจานอาหาร
2. แปรรูปเป็นน้ำผักเพื่อสุขภาพ
3. เป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น นำไปทำเป็นเส้นบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว
4. ผักอบกรอบ หรือแปรรูปเป็นผงผักเคล

ข้อมูลโดย : นางสาววัชรินทร์ จันทวรรณ์ กองบริหารงานบริการวิชาการ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้