ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา [ลำไยอายุร้อยปี]

453 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา [ลำไยอายุร้อยปี]

ลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวอายุร้อยปี (ขยายพันธุ์จากการนำเข้ามาในประเทศไทยโดยชาวจีน ราวปี พ.ศ. 2439)

ชื่อสามัญ  ลำไย

ชื่อวิทยาศาสตร์  Dimocarpus longan Lour 

    ประวัติที่มาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ลำไยพื้นเมืองซึ่งมีลูกเล็ก เมล็ดโต เนื้อน้อย มีปลูกกันมาช้านานแล้ว แต่ลำไยเนื้อ หรือ ลำไยกะโหลกมีประวัติการนำเข้ามาในประเทศไทย ราวปี พ.ศ. 2439 โดยชาวจีนนำเข้ามาถวายเจ้าดารารัศมี พระชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ลำไยที่นำมาถวายดังกล่าวเป็นลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียว มีลักษณะผลโต เนื้อหนา รสหวาน กรอบ ซึ่งได้มอบให้เจ้าคำตั๋น ณ เชียงใหม่ นำไปปลูกในพื้นที่บ้านสบแม่ข่า หรือบ้านน้ำโท้ง ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ลำไยต้นนี้ คาดว่าเป็นลำไยต้นลูกจากการเพาะเมล็ดของลำไยกะโหลกพันธุ์เบี้ยวเขียวดังกล่าว ปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) มีอายุประมาณ 115-120 ปี เดิมปลูกอยู่ที่บ้านน้ำโท้ง หมู่ที่ 3 ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการบริจาคจากเจ้าของต้นและพื้นที่ คือ คุณพัชราภรณ์ พิลาศลักษณ์ ให้กับศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินการขนย้าย โดยความอนุเคราะห์ของบริษัทช้างทองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2555

พระประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

    เจ้าดารารัศมีประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 ณ คุ้มหลวง กลางนครเชียงใหม่ เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และแม่เจ้าทิพเกสร (เทพไกรสร) ทรงได้รับการศึกษาจากพระชนกชนนีในเรื่องอักษรไทยเหนือและใต้เช่นเดียวกับกุลบุตรกุลธิดาในสมัยนั้น เมื่อเจ้าดารารัศมีทรงเจริญชันษาได้ 11 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณราโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าอินทวิชยานนท์จัดพิธีโสกันต์ พร้อมกับพระราชทานเครื่องโสกันต์ระดับเจ้าฟ้าให้เจ้าดารารัศมีทรงในพิธีอีกด้วย เมื่อเจ้าดารารัศมีได้ตามเสด็จพระบิดาซึ่งเสด็จมาร่วมงานพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระนามสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมงกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าดารารัศมีถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในในฐานะเจ้าจอม เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 เจ้าดารารัศมีมีพระราชธิดาพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี แต่ทรงเจริญพระชันษาเพียง 3 ปีเศษ ก็ประชวรสิ้นพระชนม์

    ภายหลังจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์พระบิดาถึงแก่พิราลัย เมื่อปี พ.ศ. 2440 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2451 เจ้าจอมมารดารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยี่ยมพระประยูรญาติและเพื่อถวายความเคารพพระอัฐิพระบิดาที่ถึงแก่พิราลัยจึงกราบบังคมทูลลากลับ พร้อมกับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ พระเชษฐาผู้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 ซึ่งเสด็จลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ จัดงานพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยยศเจ้าดารารัศมีจากเจ้าจอมมารดาขึ้นเป็น “พระราชชายาเจ้าดารารัศมี” (อ้างอิง:หนังสือสายใยรักสองแผ่นดิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) แต่หลังจากที่พระราชชายาฯ เสด็จกลับจากเชียงใหม่ได้เพียง 10 เดือน ก็ต้องทรงประสบความเศร้าโศกอันยิ่งใหญ่ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อมา พระราชชายาเจ้าดารารัศมียังคงประทับ ณ พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต จนกระทั่งปี พ.ศ. 2457 จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จกลับนครเชียงใหม่ พระราชชายาเจ้าดารัศมีทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบสุข ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ อยู่หลายปีจนสิ้นพระชนม์ด้วยโรคปัปผาสะพิการ (โรคปอด) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ณ คุ้มรินแก้ว รวมสิริพระชันษาได้ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระศพเป็นงานพิธีหลวง พระอัฐิส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่กู่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ อีกส่วนหนึ่งอัญเชิญไปบรรจุไว้ ณ สุสานหลวง วัดราชพิธสถิตมหาสีมาราม

ข้อมูลจาก : พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้